fbpx

EP.30 ทฤษฎีดาว Dow Theory

EP.30 ทฤษฎีดาว Dow Theory

ทฤษฎีดาว Dow Theory : ตอนนี้เราพอจะรู้กันไปแล้วว่า สิ่งสำคัญในการเทรด คือ เราจำเป็นต้อง “ดูเทรนให้ออก” และในตอนนี้เราจะมาดูกันว่า “เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์เทรน” (Trend Analysis) มีอะไรอะไรกันบ้าง

“เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์เทรน” หลักๆจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ

  • Price Pattern
  • Trend Line
  • Indicator

ในตอนนี้ผมจะขอพูดถึง “Price Pattern” กันก่อนนะครับ

Price Pattern คือ รูปแบบของราคาที่ก่อตัวขึ้นจากราคาในอดีตและเกิดขึ้นซํ้าๆจน กลายเป็นรูปแบบต่างๆของราคา

ซึ่งถ้าพูดถึง Price Pattern แล้ว ทฤษฎีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั่นก็คือ “ทฤษฎีดาว” Dow Theory

ทฤษฎีดาว Dow Theory
เครดิตรูป : www.stockalphabets.com

Charles Dow ได้คิดค้น “ทฤษฎีดาว” ขึ้นมา และยังนำราคาปิดของหุ้นจำนวน 11 ตัวคิดเป็น “ดัชนีค่าเฉลี่ยตลาดหุ้น” ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดในการพัฒนาของวงการเทรดที่ยิ่งใหญ่เลยทีเดียว

ทฤษฎีดาว Dow Theory
เครดิตรูป : https://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Dow

โดยหลักการพื้นฐานของ “ทฤษฎีดาว” มี 6 ประการดังนี้

1. รูปแบบของราคาได้สะท้อนทุกอย่างไว้หมดแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาด หรือแม้กระทั่งปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ทุกอย่างได้สะท้อนออกมาเป็นราคา ณ ขณะนั้นเรียบร้อยแล้ว

2. ราคาเคลื่อนไหวอย่างเป็นแนวโน้ม

โดย Charles Dow ได้แบ่งส่วนประกอบของแนวโน้มออกเป็น 3 ส่วน คือ

  • Primary Trend หรือ แนวโน้มหลัก เป็นแนวโน้มใหญ่ในระดับ จะคงอยู่มากกว่า 1 ปี บางครั้งกินเวลาไปนานหลายปี
  • Secondary Trend หรือ แนวโน้มรอง หรือบางครั้งเรียกแนวโน้มระยะกลาง (Intermediate) เป็น “ช่วงตลาดปรับฐาน” หรือเรียกว่า “ช่วงพักตัว” อยู่ในแนวโน้มหลัก ปกติจะกินเวลาตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน และปรับฐานลึกได้ตั้งแต่ “หนึ่งในสามถึงสองในสาม” ของรอบที่เพิ่งผ่านมา แต่โดยมากราคามักจะปรับฐานลงมาประมาณครึ่งหนึ่งของรอบที่ผ่านมาเสมอ
  • Minor Trend หรือ แนวโน้มย่อย เป็นแนวโน้มระยะสั้น กินเวลาน้อยกว่า 3 สัปดาห์ ซึ่งไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มหลัก
ทฤษฎีดาว Dow Theory
เครดิตรูป : www.dalalstreetwinners.com

3. แนวโน้มหลักมี 3 ช่วง

Charles Dow ให้ความสนใจต่อแนวโน้มหลักมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะสภาวะตลาดที่เป็น Bull Market (ตลาดกระทิง) หรือแนวโน้มขาขึ้น และ Bear Market (ตลาดหมี) หรือแนวโน้มขาลง

ต่างก็แบ่งเป็น 3 ช่วงระยะเวลาเช่นเดียวกัน ดังนี้

  • “Accumulation” หรือ ช่วงสะสมหุ้น จะเกิดในช่วงต้นของแนวโน้ม เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนในตลาดไม่กล้าลงทุน ช่วงเวลานี้นักลงทุนที่มีความเชียวชาญและมีความเข้าใจตลาดเป็นอย่างดี จะเข้ามาทยอยเปิดสถานะซื้อเพื่อเก็งกำไรในแนวโน้มขาขึ้น หรือ เปิดสถานะขายเพื่อเก็งกำไรในแนวโน้มขสลง เพราะเขารู้ดีว่าแนวโน้มก่อนหน้ากำลังจะสิ้นสุดลงในไม่ช้า
  • “Public Participation” หรือ ช่วงตลาดมีส่วนร่วม เป็นช่วงที่คนส่วนมากเริ่มมองเห็นทิศทางของแนวโน้มชัดเจนขึ้น และเริ่มเข้ามาซื้อหรือขายมากขึ้นในช่วงระยะเวลานี้ ทำให้จลาดมีการปรับตัวของราคาอย่างรวดเร็ว จะดูคึกคักเป็นพิเศษ
  • “Distribution” หรือ ช่วงเวลาแห่งการจำหน่ายแจกจ่าย จะเกิดขึ้นช่วงที่มีสีสันมากเป็นพิเศษ ทุกคนต่างกันพาเห็นไปในทิศทางเดียวกันต่างพากันแห่เข้าซื้อหรือขายกันเป็นจำนวนมากแบบทวีคูณ ซึ่งในช่วงเวลานี้ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งเริ่มปิดสถานะออเดอร์เพื่อทำกำไรอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ตลาดเริ่มเกิดสภาวะชะลอตัว และสิ้นสุดแนวโน้มในทิศทางนั้นในที่สุด
ทฤษฎีดาว Dow Theory
เครดิตรูป : EliteMarkets.com

ซึ่งเหตุการณ์ทั้ง 3 ช่วงใน “ทฤษฎีดาว” นั้น ได้ถูกนำมาวิจัยต่อยอดโดย R.N.Elliott จนเกิด “ทฤษฎีคลื่นเอลเลียต” (Elliott Wave) ตามมาภายหลังนั่นเอง

4. ตลาดทั้งหมดต้องสอดคล้องกัน

เมื่อเกิดสัญญาณแนวโน้มในทิศทางใด ราคาที่เกี่ยวข้องกันควรจะต้องมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน อาจไม่จำเป็นต้องเกิดพร้อมกันในเวลาเดียวกันเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันก็ได้ ยิ่งเกิดขึ้นใกล้เคียงกันมากเท่าไหร่ ความแข็งแรงของสัญญาณก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

5. โวลุ่มการซื้อขายต้องยืนยันแนวโน้ม

Charles Dow เชื่อว่าโวลุ่มการซื้อขายจะช่วยยืนยันสัญญาณตลาดอีกทางหนึ่ง โดยโวลุ่มการซื้อขายควรจะเพิ่มมากขึ้น และไปในทิศทางเดียวกันกับทิศทางของแนวโน้มหลัก และเมื่อราคาเกิดการย่อตัวปรับฐาน โวลุ่มการซื้อขายก็ควรจะลดลงตามกัน ถ้าสรุปง่ายๆก็คือ ถ้าช่วงตลาดกำลังปรับตัวขึ้น โวลุ่มก็ควรเพิ่มขึ้นตามแรงซื้อ และเมื่อย่อตัวปรับฐาน โวลุ่มก็ควรลดลงด้วย และถ้าช่วงตลาดกำลังปรับตัวเป็นขาลง โวลุ่มก็ควรเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนแรงเทขาย และเมื่อรีบาวน์ โวลุ่มก็ควรลดลงด้วย

6. แนวโน้มราคาจะคงอยู่ไปจนกว่าจะมีสัญญาณกลับตัวที่ชัดเจน

Charles Dow จะไม่คาดการณ์ว่าแนวโน้มนั้นจะเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ หรือระยะทางไกลแค่ไหน แต่แค่รอว่าถ้าเกิดสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้ม จึงเป็นสัญญาณใกล้จบแนวโน้มนั้น

โดยปกติการแบ่งแนวโน้มของ “ทฤษฎีดาว” จะดูจากการทำ Swing High และ Swing Low ของราคา

โดยถ้าแนวโน้มขาขึ้น จะทำ Higher High (ทำ High ใหม่สูงกว่า High เดิม) และทำ Higher Low (ทำ Low ใหม่สูงขึ้นกว่า Low เดิม) แสดงถึงทิศทางของ “แนวโน้มขาขึ้น” (Bull market)

ทฤษฎีดาว Dow Theory
เครดิตรูป : www.realfibonaccitrading.com

และถ้าราคาทำ Lower High (ทำ High ใหม่ต่ำลงกว่า High เดิม) และทำ Lower Low (ทำ Low ใหม่ต่ำลงกว่า Low เดิม) แสดงถึงทิศทางของ “แนวโน้มขาลง” (Bear market)

ทฤษฎีดาว Dow Theory
เครดิตรูป : www.realfibonaccitrading.com

สำหรับ “ทฤษฎีดาว” นั้น Charles Dow ยังให้ความสำคัญกับราคาปิดของวันมากกว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นระหว่างวันเป็นอย่างมาก และยังให้ความสำคัญกับเส้นแนวนอนที่ตีพาดผ่านราคาตามจุดที่มีนัยสำคัญเป็นเส้นแนวรับแนวต้านอีกด้วย

ผมขอพูดถึง “ทฤษฎีดาว” ไว้เพียงเท่านี้นะครับ หากใครที่สนใจอยากศึกษาลงลึกกว่านี้ ลองหาข้อมูลศึกษาเพิ่มเติมได้ทั้งทางหนังสือที่ขายตามร้านหนังสือชั้นนำ หรือทางเว็ปไซด์ต่างๆที่เจาะลึกเรื่องนี้ได้ตามสะดวก

สำหรับมือใหม่ผมอยากให้คุณฝึกมองภาพของแนวโน้มหลักให้ออก จากนั้นจึงค่อยฝึกการหาจังหวะในการเข้าเทรดตามแนวโน้มหลัก จงอย่าลืมว่า “เทรนเป็นเพื่อนที่ดีของคุณ”

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับหลายๆคน ท่านสามารถแชร์เพื่อเป็นประโยชน์ให้เพื่อนๆของคุณได้เลยนะครับ ขอบคุณมากครับ สำหรับการติดตามบทความ


เลือกอ่านบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่


เลือกโบรกเกอร์จากการจัดอันดับเพื่อเปิดบัญชีเทรด คลิ๊กที่นี่


ช่องทางติดต่อเรา

Facebook : https://www.facebook.com/brokerforexreview

E-Mail : brokerforexreview.com@gmail.com

xm